เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ที่สถาบันการเรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพ รศ.นพ.นันทวัช สิทธิรักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันการเรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพ (ThaiHealth Academy) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ThaiHealth Academy สานพลังบุคลากรทางการแพทย์กว่า 14 ชีวิต เปิดหลักสูตร “ก่อการครูแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์” พัฒนาศักยภาพครูแพทย์ และบุคลากรทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้อง โดยกระบวนการ Transformative Learning ออกแบบการเรียนการสอน ที่เน้นให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมมากกว่าการนั่งเขียนเลคเชอร์ สอดแทรกวิธีการจัดการอารมณ์ตนเอง เสริมทักษะการสังเกตผู้เรียน ลดความเครียด ที่เป็นต้นเหตุนำไปสู่ ภาวะหมดไฟในการทำงาน (BURNOUT SYNDROME) และโรคซึมเศร้าในนักศึกษาแพทย์
“สุขภาพ หรือสุขภาวะในมิติของการสร้างเสริมสุขภาพ ของ สสส. ประกอบด้วย 4 มิติ กาย จิต ปัญญา สังคม หลักสูตรนี้จะเน้นสุขภาวะทางปัญญา ซึ่งเป็น 1 ใน 4 เสาหลักของคำว่าสุขภาวะ (Well-being) เรื่องเนื้อหาที่เยอะไม่ใช่ต้นเหตุความเครียด แต่จะทำอย่างไรให้ครูและนักศึกษาแพทย์ สนุกไปกับการเรียนการสอนพร้อมกัน สร้างการสื่อสารที่ดี ลดช่องวางระหว่างครู ลูกศิษย์ เกิดห้องเรียนสุขภาวะ การเปลี่ยนแปลงครู คือจุดเริ่มต้นผลิตแพทย์พันธุ์ใหม่ เปลี่ยนระบบสุขภาพให้มีหัวใจความเป็นมนุษย์ (Humanized Healthcare) ความตั้งใจของ ThaiHealth Academy คือการนำหลักสูตรนี้ ขยายนวัตกรรมองค์ความรู้ ทักษะ เจตนารมณ์ไปโรงเรียนแพทย์ต่างๆ สร้างการเปลี่ยนแปลงให้วงการแพทย์ เห็นความสำคัญของการมีสุขภาวะที่ดีมากขึ้น องค์กร หน่วยงาน สถาบันการแพทย์ ที่สนใจ ติดต่อได้ที่ www.thaihealthacademy.com หรือ โทร 0-2171-8656” รศ.นพ.นันทวัชกล่าว
ผศ.นพ.พนม เกตุมาน ที่ปรึกษางานกิจการนักศึกษา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และภาควิชาจิตเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า งานวิจัยคณะแพทยศาสตร์ศิริราช ปี 2562 พบนักศึกษาแพทย์ มีภาวะหมดไฟในการทำงาน ร้อยละ 30 นำไปสู่การป่วยโรคซึมเศร้าร้อยละ 7 คณะทำงานรวบรวมองค์ความรู้เพื่อหาต้นตอ และเครื่องมือที่ช่วยแก้ไข ทดลองหลักสูตรมากว่า 2 ปี มีครู นักศึกษาแพทย์ที่สนใจเข้าร่วมจำนวนมาก เพราะเราไม่ได้ใช้เครื่องจักรรักษาคน การเรียนรู้ทั้ง ความรู้ ความรู้สึก การลงมือ (Head Heart Hand) ช่วยทำให้ผู้เรียนมีแรงบันดาลใจ เกิดการเรียนรู้ต่อเนื่อง ซึ่ง ThaiHealth Academy มีเป้าหมายตรงกันที่อยากพัฒนาศักยภาพครูแพทย์ และระบบสุขภาพไทย ที่มีหัวใจความเป็นมนุษย์ จึงเกิดเป็นหลักสูตร ก่อการครูแพทย์
“เชิญนักศึกษาแพทย์มาเสวนาเรื่องภาวะหมดไฟ หรือข่าววัฒนธรรมกินหัวในวงการแพทย์ ช่วยกันคิดสาเหตุ ซึ่งได้ข้อสรุปเบื้องต้น คือ 1.การสื่อสาร ที่เป็นเชิงลบระหว่างครูและนักศึกษาแพทย์ คำพูดที่รุนแรงส่งผลให้เกิดความรู้สึกด้อยค่าในตัวเอง 2.ความสัมพันธ์ บรรยากาศการเรียนการสอนที่เครียดเกินไป รวมถึงช่องวางระหว่างวัยที่ทำให้ความสัมพันธ์ห่างกัน 3.การเข้าถึงบริการด้านสุขภาพจิตใน สถาบันการแพทย์ต่างๆ ยังเข้าถึงยาก เมื่อมีปัญหา ไม่รู้จะปรึกษาใคร ไม่กล้าเข้าหาอาจารย์ เกิดความเครียดสะสม นำไปสู่ภาวะหมดไฟ อาการรุนแรงขึ้นจนป่วยโรคทางจิตในที่สุด” ผศ.นพ.พนมกล่าว
2023-02-13T09:31:31Z dg43tfdfdgfd