สภาเภสัชกรรม แจงกรณีเภสัชกรพัวพันไซยาไนด์

สภาเภสัชกรรม แจงกรณีเภสัชกรพัวพันไซยาไนด์ ย้ำ “โปตัสเซียมไซยาไนด์” และ “โซเดียมไซยาไนด์” ไม่ใช่ยา แต่เป็นสารพิษใต้การควบคุมของกระทรวงอุตสาหกรรม และพร้อมพิจารณาโทษทางจรรยาบรรณหากเภสัชกรรายที่เกี่ยวข้อง

วันที่ 27 เมษายน 2566 สภาเภสัชกรรม ออกจดหมายเปิดผนึกชี้แจงกรณีข่าวการวางยาพิษไซยาไนด์ ซึ่งมีข่าวส่วนหนึ่งพาดพิงมาถึงเภสัชกรร้านยา แจ้งว่าเป็นพี่สาวของผู้ถูกกล่าวหา นั้น

สภาเภสัชกรรม อธิบายว่า “โปตัสเซียมไซยาไนด์” และ “โซเดียมไซยาไนด์” ไม่ใช่ยา

แต่เป็นสารเคมีที่เป็นวัตถุอันตราย ซึ่ง “โปตัสเซียมไซยาไนด์” และ “โซเดียมไซยาไนด์” อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบและควบคุมโดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ภายใต้พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 และปกติจะนำมาใช้ประโยชน์ในด้านอุตสาหกรรม ไม่ได้นำมาใช้ทางยา

พร้อมย้ำว่า หากการสืบสวน สอบสวน ขยายผลแล้ว พบว่าผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมรายใดมีส่วนเกี่ยวพันในการกระทำผิดจริง สภาเภสัชกรรมพร้อมจะพิจารณาโทษทางจรรยาบรรณ ภายใต้อำนาจหน้าที่ของสภาเภสัชกรรม ตามข้อบังคับว่าด้วยจรรยาบรรณวิชาชีพ อย่างเคร่งครัด

เนื่องจาก เภสัชกรเป็นผู้ที่มีความรู้เรื่องยาและสารเคมีเพื่อใช้ในการรักษา และป้องกันโรคเท่านั้น และต้องปฏิบัติภายใต้กรอบจรรยาบรรณของการประกอบวิชาชีพ ที่กำกับดูแลโดยสภาเภสัชกรรมอย่างเคร่งครัด

2023-04-27T05:15:39Z dg43tfdfdgfd